ปัญหาการสึกหรอของยาง
ยางรถเป็นส่วนหนึ่งของระบบส่งกำลัง ระบบบังคับเลี้ยว และระบบรองรับ ซึ่งจากหน้าที่ที่มีส่วนร่วมที่สำคัญนี้จึงต้องรักษายางให้คงสภาพที่ดีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยางในขั้นแรกนั้นจะต้องตรวจสอบสภาพของยางว่ามีการใช้งานที่ถูกต้องและบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่เสียก่อน
ดังนั้นการสึกหรอของยางที่ผิดปกติจึงเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. ยางสึกบริเวณไหล่ยางหรือตรงกลาง สาเหตุหลักที่สำคัญนั้นเกิดจากการบกพร่องในการรักษาแรงดันลมยางให้ได้ตามค่าที่กำหนดไว้ ดังนั้นการเติมแรงดันลมยางให้อ่อนเกินไปจะทำให้บริเวณส่วนกลางของยางเว้าเข้าน้ำหนักของรถจะตกบริเวณไหล่ยาง จึงเป็นสาเหตุให้บริเวณไหล่ยางทั้งสองข้างนั้นสึกเร็วกว่าบริเวณตรงกลาง
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเติมลมยางให้มากกว่าค่าที่กำหนดไว้ ผลที่ตามมานั้นจะทำให้บริเวณส่วนกลางของยางสึกหรอเร็วกว่าบริเวณไหล่ยางทั้งสองข้าง
2. ยางสึกจากการเลี้ยว สภาพการสึกของดอกยางจะมีลักษณะทแยงมุม เป็นสาเหตุที่เกิดจากผู้ขับขี่นั้นเลี้ยวโค้งด้วยความเร็วที่สูงมาก วิธีแก้ไขก็คือ ผู้ขับขี่ควรลดความเร็วลงในขณะที่เลี้ยวเข้าโค้ง
3. ดอกยางสึกเพียงด้านเดียว สาเหตุหลักนั้นเกิดจากมุมแคมเบอร์ผิด ทำให้พื้นที่สัมผัมถนนของยางต่างกันตามน้ำหนักที่กดลง เช่น ถ้ายางมีมุมแคมเบอร์บวก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางด้านนอกสั้นกว่าด้านในเป็นสาเหตุให้บริเวณพื้นดอกยางด้านนอกนั้นเกิดการลื่นไถลไปบนพื้นถนนทำให้ดอกยางด้านนอกสึกเร็วกว่าดอกยางด้านใน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นมุมแคมเบอร์ลบ ก็จะทำให้ดอกยางด้านในนั้นสึกเร็วกว่าดอกยางด้านนอก
4. ดอกยางสึกคล้ายขนนก สาเหตุหลักที่สำคัญนั้นเกิดจากการตั้งมุมโทผิด เช่น ถ้าปรับตั้งมุมล้อเป็นมุมโทอินมากเกินไป จะมีผลทำให้ยางเกิดการลื่นไถลออกและดึงให้ผิวหน้าสัมผัสของดอกยางกับพื้นถนนเข้าด้านใน ลักษณะการสึกของดอกยางจะมีรูปร่างคล้ายขนนกจากด้านในไปด้านนอก และในทางตรงกันข้าม ถ้ามุมล้อถูกปรับให้เป็นมุมโทเอ๊าต์มากเกินไป ดอกยางก็จะสึกคล้ายขนนกเช่นกัน โดยจะสึกวิ่นตามแนวขวางจากด้านนอกไปยังด้านใน
5. ดอกยางสึกเป็นคลื่น สาเหตุนั้นเกิดจากรถที่ใช้ดอกยางแบบลัก เช่น รถบัส ซึ่งเป็นผลมาจากการเบรค จึงทำให้ดอกยางมีรูปแบบที่คล้ายกับการสึกที่เกิดจากมุมโทเช่นกัน
6. การสึกของยางเป็นเบ้าคล้ายถ้วย ลักษณะการสึกของยางนั้นเกิดจากการที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงและลื่นไถลชั่วขณะ
7. การสึกของยางเป็นเบ้าตลอดทั้งเส้น สาเหตุนั้นเกิดจากการชำรุดของลูกปืนล้อ ลูกหมาก คันส่ง หรือมีระยะฟรีมากเกินไป จึงทำให้เกิดการลื่นไถลเป็นจุดๆ
8. การสึกของดอกยางเป็นแนวยาว สาเหตุเกิดจากการสึกของจานเบรคที่กระทำเป็นช่วงๆ จึงทำให้เกิดการสึกของยางเป็นแนวยาวกับพื้นที่สัมผัสของพื้นถนนในทิศทางแนวเส้นรอบวง การสึกหรอมีสาเหตุมาจากดรัมเบรคทำงานเป็นระยะๆ
9. การสึกของดอกยางเหมือนเส้นรองเท้า ลักษณะการสึกเหมือนเส้นรองเท้า จะพบมากกับดอกยางแบบบล็อคและแบบลัก สาเหตุนั้นมาจากการปรับตั้งมุมโทผิดและวิ่งบนถนนเรียบบ่อยครั้ง
10. ตัวถังรถสั่นเมื่อใช้ความเร็ว สาเหตุหลักของการสั่นที่ตัวถังนั้นเกิดจากยางรถทุกเส้นไม่สมดุลกันหรือบิดเบี้ยวมากกว่าค่าที่กำหนด อาการสั่นนี้จะเกิดขึ้นที่ระดับความเร็วตั้งแต่ 40 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
11. พวงมาลัยเต้นหรือสะบัด สาเหตุหลักที่สำคัญนั้นเกิดจากยางทุกเส้นไม่สมดุลหรือจากสาเหตุอื่นซึ่งได้แก่ ก้านต่อบังคับเลี้ยวชำรุดและศูนย์ล้อผิด
ลักษณะของการเต้นหรือสะบัดของพวงมาลัยถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ
* เกิดการสั่นตลอดเวลาตั้งแต่ความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนถึงความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
* เกิดอาการที่เรียกว่า สะบัด ที่ความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่ิอชั่วโมง
แรงดันลมยาง ( Inflation Pressure )
ยางรถยนต์จะต้องสูบลมให้ได้แรงดันลมตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้ายางอ่อนเกินไป จะทำให้แก้มยางมีความยืดหยุ่นมาก เกิดความร้อนสูง ดอกยางสึก สมรรถนะในการขับขี่จะไม่ปลอดภัย ดังนั้นแรงดันลมยางจึงต้องหมั่นตรวจสอบให้เป็นปกติ และปรับให้ได้ค่าตามที่กำหนด หรืออาจจำเป็นที่จะต้องเพิ่มหรือลดให้มีความแตกต่างจากแรงดันปกติก็ตาม
ด้วยเหตุนี้การเติมลมยางให้มีแรงดันที่แตกต่างจากค่าที่กำหนดจะมีผลต่อยางดังนี้ ในกรณีแรงดันลมยางมากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาดังนี้
- ความยากลำบากในการบังคับ
- ทำให้ดอกยางตรงกลางสึกหรอเร็วขึ้น
- ชั้นดอกยางจะแยกตัว ซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิความร้อนจากความฝืด
- ชั้นผ้าใบเกิดการเสียหาย
แรงดันลมยางต่ำเกินไปจะทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ คือ
- ขอบของดอกยางจะสึกมากเกินไป
- การบังคับเลี้ยวยาก
- ที่ความเร็งสูงยางจะยืดหยุ่นมาก ทำให้มีอุณหภูมิความร้อนสูง เกิดคลื่นและระเบิด
- มีความฝืดสูง ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น